ถ้าใช้ความน่าจะเป็นระดับพื้นฐานเป็นเกณฑ์ประเมิน น่าจะสันนิษฐานได้ว่า เมื่อเทคโนโลยีก้าวหน้าขึ้น ย่อมส่งผลให้โหราศาสตร์และไสยศาสตร์เสื่อมความนิยมลง แต่สิ่งที่เห็นและเป็นไปในสังคมไทย กลับมีทิศทางตรงกันข้ามกับข้อสันนิษฐานดังกล่าว โดยวงการโหราศาสตร์ ซึ่งสื่อส่วนหนึ่งเรียกว่า “ธุรกิจความเชื่อ” มีอัตราขยายตัวไปพร้อมกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยี
อัตราเติบโตเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ในช่วง 3 ปี ระหว่างปี พ.ศ. 2560-2562 มีการยื่นขอจดทะเบียนตั้งบริษัทใหม่ ในหมวดกิจกรรมโหราศาสตร์และไสยศาสตร์ ทั้งการดูดวง กำหนดฤกษ์ยาม ดูฮวงจุ้ย การทำพิธีบวงสรวง และการเข้าทรง จำนวน 21 บริษัท วงเงินทุนรวม 24.8 ล้านบาท ส่งผลให้มีผู้ประกอบการในธุรกิจนี้เพิ่มเป็น 38 บริษัท มีทุนจดทะเบียนรวม 44 ล้านบาท ส่วนในปี 2563 กิจการให้บริการด้านความเชื่อ เป็น 1 ใน 15 ธุรกิจที่มีอัตราเติบโตสูง
ทั้งนี้ จำนวนบริษัทที่จดทะเบียนใหม่ในช่วง 3 ปีดังกล่าว มี 5 บริษัทที่จดทะเบียนในปี 2560 และ 2561 ส่วนปี 2562 มีจำนวน 11 บริษัท รวมทุนจดทะเบียน 15.40 ล้านบาท
คนกรุงเทพฯ ดูดวงมากสุด
สำหรับบริษัทที่จดทะเบียนทั้งหมด 38 บริษัท อยู่ในกรุงเทพฯ 20 บริษัท และในภูมิภาค 18 บริษัท ส่วนรายได้ ทางกรมพัฒนาธุรกิจการค้าเปิดเผยว่า ธุรกิจนี้มีรายได้รวมในปี 2561 จำนวน 12 ล้านบาท โดยบริษัทที่อยู่ในกรุงเทพฯ มีรายได้ดีที่สุด ซึ่งหมายถึงมีลูกค้าใช้บริการมากที่สุด ตามด้วยจังหวัดนครราชสีมาและปทุมธานี
ย้อนไปในปี 2548-2550 ทางศูนย์วิจัยกสิกรไทยเปิดเผยผลสำรวจว่า คนกรุงเทพฯ จ่่ายค่าดูดวงในปี 2548 ประมาณ 1,600 ล้านบาท และจ่่ายค่าดูดวงรวมทั้งค่าทำบุญ สะเดาะเคราะห์ และทำพิธีต่าง ๆ ประมาณ 2,300 ล้านบาท ส่วนในปี 2549 จ่่ายค่าดูดวงอย่างเดียวประมาณ 1,700 ล้านบาท และในปี 2550 จ่่ายค่าดูดวงอย่างเดียวประมาณ 1,800 ล้านบาท